Thursday, February 07, 2013

มนตรี ตั้งพิชัยกุล

โลกของตลาดทุนเสรีคือการแข่งขันทางการค้า โดยมีรัฐบาลเป็นกรรมการออกกฏกติกาในการแข่งขัน ค่าตอบแทนจากการค้าขายสินค้าและบริการคือเงิน แต่การแข่งขันที่สูงเกินไปก่อให้เกิดสงครามราคา (price war) ผู้ค้าที่เก่งกว่าในระบบจะได้เปรียบและจะเป็นผู้ผลักให้ราคาสินค้าสูงขึ้น โดยผู้บริโภคก็ยอมจ่ายเงินส่วนเพิ่มแลกกับสินค้าและบริการที่เชื่อว่าดีกว่าหรือถูกทำให้เชื่อว่าดีกว่าผ่านสื่อโฆษณา การแข่งขันของตลาดเสรีนี้เองที่ทำให้สินค้ามีความหลากหลาย เช่นแว่นกันแดดมีตั้งแต่ราคา 29 บาท ซื้อขายกันที่ร้านขายส่งหลัง รพ.กลาง นำเข้ามากจากจีน จนถึงแว่นกันแดดยี่ห้อดังๆราคา 12,900 อย่าง Ray Ban หรือ Gucci นำเข้าจากอิตาลีที่มีขายทั่วไปตามห้างสรรพสินค้า

เงินเฟ้อเกิดจากการปีนบันไดหนีของผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อมากกว่า 

ความที่ราคาสินค้าประเภทเดียวกันมีราคาหลากหลายมาก (29-12,900) ทำให้เกิดการแบ่งชั้นของผู้บริโภคด้วยอำนาจการซื้อ คนเราต้องการสินค้าและบริการที่ดีกว่าคนส่วนใหญ่เสมอ และพยายามเพิ่มอำนาจการซื้อของตนให้สูงขึ้นจนบางครั้งเกินเลยจากปัจจัยพื้นฐานด้านกำลังซื้้อที่แท้จริงของตนไป ผู้มีกำลังซื้อน้อยถูกการกดดันทางสังคมจากสื่อโฆษณา หรือปัจจัยด้านการพัฒนาของเทคโนโลยีและการสื่อสาร ทำให้ต้องซื้อบางประเภทที่มีราคาแพงเพื่อสนองความต้องการทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อผู้คนส่วนใหญ่พยายามปีนบันไดซื้อสินค้าที่แพงเกินกำลังซื้อของตน ผู้มีกำลังซื้อมากกว่าก็ต้องเปลี่ยนไปซื้อสินค้าและบริการที่แพงกว่าขึ้นไปอีก เพราะคนที่มีกำลังซื้อมากกว่าก็ย่อมต้องการทางเลือกที่ดีกว่าคนส่วนใหญ่เสมอ สิ่งนี้เปิดช่องให้ผู้ค้าที่เก่งกว่าในตลาดเสรีผลิตสินค้าระดับ high end ในราคาที่สูงขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการที่สูงขึ้น ผู้ได้เปรียบทางเสรีการค้าคือผู้ค้าที่เก่งกว่าผู้ค้ารายอื่นในระบบ ที่สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าของตนได้แลกกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนิดหน่อย แต่คุ้มค่ากับราคาขาย (selling price) ที่เพิ่มมากขึ้น แต่ข้อเสียคือยิ่งราคาขายสินค้ามีเพดานที่สูงขึ้นเท่าใด อำนาจการซื้อของทุกคนในประเทศโดยเฉลี่ยรวมกันยิ่งน้อยลงเท่านั้น อำนาจการซื้อนี้เองมีดรรชนีชี้วัดเป็นค่าเงินเฟ้อ ยิ่งอัตราเงินเฟ้อสูงเท่าใด อำนาจของเงินในการจับจ่ายซื้อของก็ลดลงเท่านั้น สรุปได้ว่าผู้ซื้อสินค้าต่างมีส่วนร่วมทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้นไม่มากก็น้อย

เงินเฟ้อสู้ด้วยดอกเบี้ย

ถ้าเงินเฟ้อ 3% ทุกปี แปลว่า ปริมาณเงินที่เท่าเดิมจะมีอำนาจการจับจ่ายที่น้อยลงทุกปีๆละ 3% ดังนั้นเงินออมที่เก็บไว้เฉยๆ ก็จะมีค่าลดลง (ในที่นี้หมายถึงอำนาจการซื้อ) ถ้าจะให้มีค่าเท่าเดิม ก็ต้องทำให้เงินออมนั้นเพิ่มในสัดส่วนที่เท่ากันกับอัตราเงินเฟ้อ นั้นคือทุกปีจะต้องได้รับดอกเบี้ยจากเงินต้นที่ออมอยู่ 3% จึงจะพูดได้ว่าเงินออมของตนเท่าเดิม ถ้าไม่มีส่วนเพื่มจากดอกเบี้ย 3% นี้ก็ต้องถือว่าเงินมีค่าน้อยลง ไม่ใช่เท่าเดิม อัตราดอกเบี้ัยจากเงินออมที่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อหมายถึงค่าเงินที่น้อยลง ในทางกลับกันอัตราดอกเบี้ยรับที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อในปีนั้นเท่ากับว่ามูลค่าเงินที่มีมากขึ้น

การแข่งขันเพื่อเพิ่มดอกเบี้ยเงินออมนำไปสู่การลงทุนและการเก็งกำไร

ระบบทุนเสรีเอื้อให้เกิดการแข่งขันในการเสนอขายสินค้าและบริการในราคาที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่มีเพดานและทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นดังกล่าวแล้ว แต่รายได้จากการขายสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้นก็ทำให้เกิดปริมาณเงินออมในตลาดเงินที่สูงขึ้นเช่นกัน เงินออมที่สูงขึ้นนี้เองหากไม่บริหารให้ดีก็จะมีมูลค่าน้องลงไปเรื่อยๆอันเนื่องจากเงินเฟ้อดังกล่าวแล้ว ดังนั้นจึงเกิดความพยายามมากมายของผู้มีเงินออมที่จะดิ้นรนไม่ให้มูลค่าเงินออมของตนมีค่าน้อยลงเพราะอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี อย่างน้อยที่สุดดอกเบี้ยที่ได้จากเงินออมก็ต้องไม่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ เพื่อรักษาค่าของเงินออมไม่ให้น้อยลงไปกว่าเดิม ความพยายามที่สูงขึ้นเกิดเป็นการแข่งขันเพื่อเพิ่มดอกเบีัยเงินออมของตนให้มากขึ้น และมากที่สุด หากมีเงินต้นก้อนใหญ่ และสามารถเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเกินไปกว่าอัตราเงินเฟ้อได้มากๆ รายได้จากดอกเบี้ยดังกล่าวตลอดทั้งปีอาจมากกว่ารายได้จากเงินเดือนทั้งปีเสียอีก เท่ากับว่ามีรายได้เป็นดอกเบี้ยแทนการรับเงินเดือนจากการทำงาน และอาจทำให้หลายคนเกษียณตัวเองจากการทำงานได้เลย

ตัวเลือกในการแข่งขันเพื่อเพิ่มดอกเบี้ยในระบบทุนเสรี

ดังกล่าวแล้วว่าผู้ค้าที่เก่งกว่าในระบบทุนย่อมเป็นผู้ได้เปรียบในเชิงการแข่งขัน และนั้นหมายความถึงการมีเงินออมที่มากกว่า แต่ถ้าบริหารเงินออมไม่ดีเงินก็ด้อยค่าลงได้จากภาวะเงินเฟ้อที่ติดต่อกันนานๆคำถามคือจะบริหารเงินออมอย่างไรให้มีประสิทธิภาพเพิ่มดอกเบี้ยให้มากขึ้นได้ โอกาสในการได้รับดอกเบี้ยที่สูงขึ้นย่อมต้องแลกกับความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย แต่นี่ก็ไม่ใช่ปัญหาเสียทีเดียวสำหรับผู้ที่มีเงินออมมาก ถ้านำเงินฝากธนาคารโดยทั่วไปดอกเบี้ยที่ได้จะต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อแต่แม้จะเพิ่มน้อยแต่ก็เพิ่มแน่ๆไม่มีลด ไม่มีความเสี่ยง ผิดกับการนำไปลงทุนอย่างอื่นซึ่งเสี่ยงกันการลดลงของๆ เงินต้นในบางโอกาส แต่นั่นย่อมหมายถึงโอกาสที่จะได้ดอกเบี้ยจากเงินต้นที่สูงมากด้วยเช่นกัน เช่นการนำเงินไปปล่อยกู้ก็ได้รับรายได้เป็นดอกเบี้ยเงินกู้ รายได้จากการปล่อยกู้นี้ทำกำไรได้มากจริงๆ โดยเฉพาะการปล่อยกู้นอกระบบ การผ่อนชำระดอกเบี้ยเงินกู้ของคนจนจึงเป็นรายได้ชั้นดีของคนรวย หรือกล่าวได้ว่าคนจนขาดทุนดอกเบี้ย แต่คนรวยกำไรดอกเบี้ย อย่างไรก็ตามการปล่อยกู้ย่อมเสี่ยงกับการหนีหนี้ ถ้านำเงินไปลงทุนในตราสารทุน คือซื้อหุ้นกิจการต่างๆทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ ค่าตอบแทนคือราคาหุ้นที่อาจเพิ่มสูงขึ้น บวกกับโบนัสปลายปีอีก แต่นั่นก็หมายถึงโอกาสที่มูลค่่าหุ้นจะตกลงอย่างมากในเศรษฐกิจขาลงได้เหมือนกัน หรือจะซื้อทรัพย์สินต่างๆ เพื่อเก็งกำไรโดยหวังว่าทรัพย์สินเหล่านั้นจะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต เช่น บ้าน ที่ดิน ทองคำ อัญมณีต่างๆ แต่ก็ทำให้สินทรัพย์หมดสภาพคล่อง ขายยาก เว้นแต่ทองคำที่ขายได้ตลอดเวลา แต่ราคาผันผวน และไม่มีผลตอบแทนระหว่างที่เก็บไว้ บ้าน ที่ดิน คอนโด ยังปล่อยให้เช่าได้ แต่ทองคำเก็บแล้วรอราคาขึ้นอย่างเดียว

จ้างมืออาชีพบริหารจัดการดอกเบี้ย

ความพยายามที่จะเพิ่มดอกเบี้ยเงินออมให้มากที่สุดนี้เอง เป็นโอกาสให้เกิดธุรกิจการเงินมากมายที่ดำเนินธุรกิจด้วยวิธีระดมเงินทุนจากผู้คนมาเป็นกองทุน (mutual fund) และบริหารกองทุนเงินเหล่านั้น โดยสัญญาว่าจะเพิ่มดอกเบี้ยให้กับผู้ร่วมลงทุนให้ได้มากที่สุด โดยขอแลกกับค่าบริหารจัดการนิดๆหน่อยๆเมื่อเทียบกับกำไรที่ได้จากเงินลงทุน แต่ละกองทุนมีลักษณะแตกต่างกัน บางกองทุนเน้นลงทุนในตราสารทุนหรือหุ้นแลกกับความเสี่ยงหรือการขึ้นลงของราคาหุ้นที่หวือหวา บางกองเน้นลงทุนในตราสารหนี้เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่แม้จะไม่มากนักแต่มั่นคงความเสี่ยงต่ำ บางกองทุนเน้นลงทุนในตลาดทุนต่างประเทศ บางกองเน้นลงทุนในประเทศ ผู้ที่มีรายได้จากการเป็นผู้จัดการกองทุนจนกลายเป็นเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกในสมัยหนึ่งคือ Warren Buffet

Trigger/Target fund ค่า IPO และ NAV

ตัวอย่างกองทุน เช่น T-Challenge 2 ของ บลจ. ธนชาตตั้งเป้าไว้ 7% ระยะเวลา 7 เดือน เน้นลงทุนในตลาดหุ้นไทย เมื่อใดได้รับกำไร 7% ของมูลค่าที่ลงในหน่วยลงทุน ก็ปิดกองทันที และแจกคืนเงินลงทุนพร้อมกำไรให้ผู้ร่วมลงทุนทั้งหมด หรือถ้าไม่ถึง 7% สักทีก็รอไปเรื่อยๆจน 7 เดือน แล้วคืนเท่าราคาตลาดในขณะนั้น ทาง บลจ จะแบ่งหน่วยลงทุนเป็นหุ้นๆละ 10 บาท เรียกค่านี้ว่าค่า IPO (Initial Public Offering) หรือมูลค่าหน่วยลงทุน ณ เวลาที่ซื้อ เมื่อมูลค่าหน่วยลงทุนเพิ่มโดยมีค่า NAV (Net Asset Value) 10.91% ซึ่งคิดจากผลรวมของมูลค่าหน่วยลงทุนกับค่าธรรมเนียมในการบริหารกองทุน ก็จะปิดกองทันที กองทุนเปิดที่มีเป้าหมายเพื่อปิดกองหลังทำกำไรระยะสั้นนี้เรียกว่า Trigger Fund หรือ Target Fund ปรากฏว่า T-Challenge 2 สามารถปิดกองคืนเงินได้เลยก่อนระยะเวลา 7 เดือน หมายความว่าประสบความสำเร็จทำกำไรได้ 7% ตามเป้าที่สัญญาไว้กับผู้ร่วมทุน ส่วนกองทุน Equity Trigger ของ บลจ Tisco ตั้งเป้า 8% ปรากฏว่าสามารถปิดกองได้ภายใน 6 สัปดาห์หลังเปิด ผู้ร่วมทุนได้กำไรดอกเบี้ย 8% ทันทีภายในแค่ 6 สัปดาห์ ล่าสุด (8 กพ 56) บลจ ธนชาตออกกองทุน Trigger ตัวใหม่ ตั้งเป้า 8% เช่นเคย ในระยะเวลา 1 ปี ด้วยทุนจดทะเบียน 2,500 ล้านบาท ส่วน บลจ FMC ออก Trigger Fund 6% 6 เดือน แต่ทีลักษณะพิเศษคือแบ่งการทำกำไรเป็นสองช่วง ช่วงที่หนึ่งรอให้ได้ 3% ก่อนแล้วคืนเงินต้นบวกดอกเบี้ย 3% ส่วนเงินที่เหลือลงทุนต่อไปเพื่อให้ได้อีก 3% ที่เหลือ ลักษณะเช่นนี้จะเป็นการทำกำไรได้อย่างรวดเร็วในเศรษฐกิจขาขึ้น เพราะโอกาสที่จะได้กำไร 3% มีมาก เมื่อเกิดขึ้นก็ปิดทำกำไรเลยเพื่อทำกำไรรอบใหม่ ไม่ต้องรอจนถึง 7% หรือ 8% แล้วค่อยปิด




No comments: