Tuesday, May 24, 2011

สัญญาณอันตราย

วันนี้ไปสำนักงานจัดหาแรงงานกับหุ้นส่วน เพื่อหาคนมาทำงาน คนหางานตอนนี้มากจริงๆ แต่ที่น่าแปลกคือเมื่อดู profile บัณฑิตกว่าร้อยราย พบว่าอัตราเงินเดือนที่ต้องการหรือที่เรียกจากนายจ้างได้ไม่ได้แตกต่างจากเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วสมัยที่ผมเป็นบัณฑิตจบใหม่หางานเอง

สังคมไทยกำลังถูกคุกคามด้วยภาวะการศึกษาเฟ้อ (Eduflation) สิบกว่าปีที่แล้ว สาวใช้ตามบ้านได้เงินเดือน 4,000 บาท บัณฑิตจบใหม่ได้เงินเดือน 8,000 บาท มากกว่าสาวใช้ 100% เดี๋ยวนี้สาวใช้ได้เงินเดือน 7,000 บาท บัณฑิตจบใหม่ได้เงินเดือน 10,000 บาท มากกว่าสาวใช้แต่ 40%

อีกสิบปีข้างหน้าเราคงได้เห็นสภาพสังคมแบบประเทศทุนนิยมที่เจริญแล้วหลายๆ ประเทศ ประเทศที่รายได้ของแรงงานรับจ้างสูง เกือบเท่ากับคนทำงานสำนักงาน เพราะแรงงานเหล่านี้กำล้งเป็นที่ต้องการมากขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษกิจที่รวดเร็วจนน่ากลัว แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่น่ากลัวกว่าคือการขยายตัวทางการศึกษาจนเฟ้อ และอุปสงค์ที่มากกว่า อุปทาน เพราะค่านิยมที่แข่งกันซื้อปริญญา ผลดีตกอยู่กับสถาบันการศึกษา บุคคลากร และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ผลเสียคือบุคคลการครูเติบโตไม่ทัน คืนคนสอนมีไม่พอกับคนเรียน ทำให้การศึกษาไม่มีคุณภาพ จบแล้วไม่สามารถทำงานในสาขาที่จบจริงๆได้ ผมเรียกสภาพแบบนี้ว่า การศึกษาเฟ้อ หรือ Eduflation (Education + Inflation) ก็แล้วกัน

ประเทศเจริญแล้วอย่าง ออสเตรเลีย กำลังผลิตใบปริญญาเป็นสินค้าส่งออกอย่างเป็นระบบ เพราะรัฐบาลลงมาทำตลาดเอง ทั้งค้าปลีกและค้าส่ง เป็นทั้ง supplier และ dealer ในตัว เข้ามาดึงลูกค้าถึงในต่างประเทศ ส่วนคุณพ่อ คุณแม่ก็เร่งหาเงินมาทั้งชีวิต แล้วซื้อปริญญาให้ลูก ให้กลับมาเป็นบัณฑิตจบนอกแย่งงานบัณฑิตที่จบในประเทศ ส่วนบัณฑิตที่จบในประเทศ หากไม่เร่งพัฒนาตนเองให้มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงแล้ว มีเพียงใบปริญญาใบเดียว ไม่นานรายได้จะไม่ต่างจากแรงงานรับจ้างส่วนใหญ่ในสังคม เช่นช่างทำผม ช่างตัดเสื้อ บริกรร้านอาหาร หมอนวด มอเตอร์ไซด์รับจ้าง เป็นต้น ถึงวันนั้นฟองสบู่การศึกษาจะแตก คือบัณฑิตไม่เพียงตกงาน เพราะต่อให้มีงานทำเงินเดือนก็ยังต่ำกว่าแรงงานรับจ้างเสียอีก เพราะเรียนเป็นอย่างเดียวในระบบการศึกษาที่ขาดคุณภาพ จึงด้อยความสามารถ สุดท้ายบัณฑิตก็ผันตัวเองมาเป็นแรงงานรับจ้างซะเอง เลยไม่รู้ว่าแล้วลงทุนเรียนไปทำไม ความรู้ก็ไม่ได้ รายได้ก็เท่าคนไม่ได้เรียน

สุดท้ายตัดกันที่โอกาสทางสังคม และความสามารถที่แท้จริง อย่างแรกกำหนดไม่ได้ อย่างที่สองพัฒนาได้ บัณฑิตไทยต้องคิดให้เป็น และเร่งเพิ่มมูลค่าของตนให้เร็วที่สุด อย่างมัวแต่เรียนตามครรลองของสังคม หรือเรียนตามเพื่อน อย่าเรียนเพื่อพ่อแม่ แต่ต้องเรียนเพื่อตนเอง ต้องเรียนเพื่อพัฒนาความสามารถของตนอย่างแท้จริง หากคิดจะเรียนตามกระแสก็ต้องเลือกสาขาวิชาที่เป็นที่ต้องการของตลาดจริงๆ แต่หากคิดเรียนแตกต่างจากกระแส ก็ต้องเร่งสร้างจุดขาย ให้โดยเด่น และเรียนด้วยความมุ่งมั่นว่าจะเอาความสามารถอย่างแท้จริงอย่างกัดไม่ปล่อย อย่าเรียนแบบถูกสังคมเพื่อนพ้องพ่อแม่หลอกให้เรียนอีกต่อไป เพราะอีกไม่นานบัณฑิตไทยไม่เพียงจะต้องแข่งกันเอง แต่ยังมีแรงงานจากสนาม ASEAN ที่จะลงมาแข่งขันในประเทศของเราอีก

No comments: