Saturday, May 22, 2010

สิทธิผู้บริโภคในระบบเศรษกิจทุนนิยม

มุมมองของผู้บริโภค
ผู้บริโภคถือเป็นปลาเล็กที่สุดในวงจรเศรษกิจทุนนิยม เพราะเราจำเป็นต้องกินต้องอยู่ จึงต้องซื้อสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภค แม้สินค้าเหล่านั้นจะได้รับการกำหนดราคาจากรัฐบาลในระดับหนึ่ง แต่กำไรจากการขายสินค้าย่อมมีบ้างไม่มากก็น้อย และตกอยู่กับผู้ประกอบการ ดังนั้นหากสินค้าที่เราอุดหนุนอยู่เป็นประจำ เรามีส่วนทำให้ผู้ประกอบการรายนั้นเติบโตขึ้น โดยที่เราไม่ได้มีส่วนกับผลกำไรหรือขาดทุนจากผู้ประกอบการเลย

ระบบเศรษกิจทุนนิยมเปิดช่องให้เราในฐานะปลาตัวเล็กที่สุดในระบบ สามารถมีส่วนกับผลกำไรขาดทุนของสถานประกอบการโดยผ่านการซื้อหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งหุ้นดังกล่าวเราอาจซื้อได้โดยตรงกับสถานประกอบการเวลามีประกาศขายหุ้น หรือจะซื้อในตลาดรองผ่านบริษัทหลักทรัพย์ก็ได้ เวลาซื้อก็เหมือนไป shopping ในตลาดสด เช่นสามารถ เลือกซื้อ หุ้นปตท 10 ตัว หุ้นSevenEleven 50 อัน หรือคอนโนศุภาลัย 2 เข่ง แล้วมัดรวมกันส่งให้บริษัทหลักทรัพย์ชั่งกิโลตีราคาโดยหักค่าหัวคิวในการชั่งน้ำหนักออกไปทุกครั้งที่มีการซื้อ เท่านี้ผมก็สามารถเป็นเจ้าของกิจการทั้งสามอย่างได้แล้ว ต้นทุนอันน้อยนิด แต่ความสุขอันยิ่งใหญ่ เพราะเมื่อบริษัทมีกำไรจากการทำธุรกิจ ผมก็จะได้รับปันผลตามสัดส่วนของหุ้นที่ครอบครองอยู่ หรือถึงแม้จะขาดทุนบ้าง ก็ยังมีความสุขในฐานะเจ้าของกิจการ ครั้งต่อไปที่ผมเติมน้ำมัน ปตท เข้าSevenEleven ก็จะยินดีสนับสนุนสินค้าเต็มที่เพราะเป็นกิจการของผมเอง หรืออาจทักทายพนักงานขาย

"รับขนมจีบซาลาเปาทานเพิ่มใหมคะพี่"
"อ้อ ไม่ล่ะน้อง เอ... แต่น้องต้องแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยหน่อยนะ เดี๋ยวลูกค้าจะตำหนิเอาได้... เอ้าส่วนคุณนี่ ทำไม่ยืนนิ่งอยู่ แถวยาวแล้ว ไม่ดูลูกค้าเลย เรานี่... เอ้าๆ ทำงานกันหน่อย อย่าอู้ๆ ไม่รู้หรอว่าพี่เป็นใคร พี่นี่หุ้นส่วนซุปเปอร์ที่นี่นะน้องสาว!!!"
(เฮ่อ... ปัญญาอ่อน อีกแล้วเรา!)

นี่ล่ะคือความสวยงามของระบบเศรษกิจทุนนิยม และรวมถึงที่มาของหลักการแปลงหุ้นรัฐวิสาหกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์ด้วย ทำให้ประชาชนได้มีส่วนในทรัพย์สินของรัฐ โดยผ่านการซื้อหุ้นในกิจการของรัฐ แต่ถ้าไม่ได้แปลงเป็นหุ้นออกขายในตลาดหลักทร้พย์ กิจการก็จะตกอยู่ในมือของรัฐบาลในยุคที่เข้ามามีอำนาจว่าจะใช้จ่ายหรือ corruption กันอย่างไร

มุมมองของผู้ประกอบการ
ผู้ประกอบการรายใหญ่เองก็ต้องการขยายกิจการของตนให้ใหญ่โตขึ้นอีก การเสนอขายหุ้นของบริษัทจึงเป็นการระดมทุนจากผู้บริโภคในระบบแบบหนึ่งนั้นเอง ซึ่งอาจจะดีกว่าไปกู้หนี้ยืมสินจากธนาคารแล้วจ่ายดอกเบี้ยราคาแพง สู้เล่นเปลี่ยนหนี้ที่มีอยู่เป็นทุนซะดีกว่า คือเอาเงินกู้ (liability) คืนเจ้าหนี้หรือธนาคารไป แล้วไปเพิ่มในส่วนผู้ถือหุ้น (equity) แทนด้วยการขายหุ้นของบริษัทให้ผู้บริโภคตาดำๆมาเป็นผู้ร่วมทุนซะเลย จะได้ไม่ต้องคอยจ่ายดอกเบี้ยให้ธนาคาร เวลากำไรมากก็แกล้งแต่งบัญชีให้เป็นกำไรน้อย โดยหักเป็นค่าใช้จ่ายโน่นนี่เช่นตั้งเงินเดือนผู้บริหารสูงๆ แล้วก็ให้ปันผลพอเป็นพิธี แต่เวลากำไรน้อยก็แสดงบัญชีว่าขาดทุนงดปันผลต่างๆนาๆ ตามแต่จริยธรรมของผู้บริหารองค์กร

ที่กล่าวมานี้จะบอกว่าผู้ประกอบการขนาดใหญ่บางทีก็ต้องพึ่งพาอาศัยผู้บริโภคตัวน้อยหลายๆตัว เหมือนปลาใหญ่ที่มีปลาตัวเล็กๆมาแทะเล็มเศษอาหารที่ติดอยู่ตามผิวของมัน ซึ่งก็เป็นการทำความสะอาดเนื้อตัวของปลาใหญ่ ส่วนปลาเล็กก็ได้ประโยชน์ว่ายน้ำติดตามปลาใหญ่ไปทุกที่ ไม่ต้องไปหาอาหารกินทีไหนให้เมื่อย

ปัญหาคือ...?
แต่เช่นเดียวกับที่เกิดในตลาดสด และทุกๆตลาด ไม่ว่าตลาดมืด ตลาดแจ้ง หรือตลาดหลักทรัพย์ คือ 'คนเลว' คนคิดไม่ซื่อ เช่น แม่ค้าที่โกงตาชั่งบ้าง แกล้งทอนเงินไม่ครบบ้าง หรือโจรขโมยปล้นแม่ค้าในตลาดบ้าง

เมื่อหุ้นของกิจการรัฐวิสาหกิจเข้าตลาดแล้ว ประชาชนคนไทยทุกคนก็ย่อมมีสิทธิจับจองเป็นเจ้าของโดยซื้อหุ้นดังกล่าวครับ และเพื่อให้ประชาชนทุกคนได้มีสิทธิเท่าเทียมกันมากที่สุด จึงกำหนดราคาขายว่าซื้อได้คนละไม่เกินกี่หุ้นกี่หุ้น จำนวนหุ้นจะได้กระจายอยู่ให้อุ้งมือคนไทยคนละนิดๆกันอย่างถ้วนหน้า เข้าทำนองอัฐยายซื้อขนมยาย หรือเรือล่มในหนองเงินทองอยู่ในประเทศครับ!

ฟังดูดี... แต่ปัญหาคือนายทุนรายใหญ่ต้องการซื้อหุ้นจำนวนมากๆ เพราะรู้ว่ากิจการโดยเฉพาะที่เป็นของรัฐนั้นเป็นกิจการที่ทำรายได้มากและมีเสถียรภาพเพราะมีรายได้จากปลาเล็กๆอย่างผมซึ่งมีฐานะจำยอมต้องใช้น้ำใช้ไปใช้น้ำมันเชื้อเพลิง แต่ติดที่ข้อห้ามนี้ ทำให้ซื้อหุ้นประเภทนี้มีละมากๆไม่ได้ ก็เลย ไปฝากเงินไว้กับสถาบันการเงินต่างชาติ แล้วให้บริษัทกองทุนต่างชาติเป็นตัวแทน หรือ Nominee เป็นผู้ซื้อหุ้นด้วยเงินดอลล่าห์ เพื่อให้ได้สิทธิในการซื้อหุ้นทีละมากๆ ในฐานะกองทุนต่างประเทศ คราวนี้กิจการของรัฐก็จะตกอยู่ในอุ้งมือคนเพียงไม่กี่คนที่เป็นมหาเศรษฐี ซึ่งจริงๆก็อาจไม่ใข่ต่างชาติที่ใหน ก็คนไทยด้วยกันนี้แหละครับที่เป็นนายทุนรายใหญ่ แทนที่จะกระจายอยู่ในมือผู้บริโภคซึ่งเป็นปลาตัวเล็กๆในระบบอย่างผม ท้ายที่สุดกิจการของรัฐจะถูกถ่ายเปลี่ยนมือมาจากรัฐบาลสู่มือนายทุนรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ผู้ซึ่งสามารถกำหนดนโยบายในการแสวงหากำไรจากกิจการที่เกิดจากผู้บริโภคเล็กๆอย่างผมหลายๆคนรวมกัน เอาเป็นว่าผมเติมน้ำมันปตทอาทิตย์ละไม่ต่ำกว่าห้าสิบลิตร แต่อาจมีหุ้นปตทถืออยู่เพียงไม่กี่สิบหุ้น ในขณะที่นายทุนพวกนี้กลับซื้อได้เป็นหมื่นๆหุ้น ทั้งๆที่ก็อาจจะไม่ได้อุดหนุนน้ำมันปตทมากมายไปกว่าผมสักเท่าไหร่

ระบบไม่ได้ผิด แต่มันผิดที่คน! และเจตนาที่แท้จริงของคน! คือรู้ๆอยู่ว่าเมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วจะไปมีตาสีตาสา ยายมียายมาที่ไหนมาซื้อหุ้นได้ หรือซื้หุ้นเป็น ถ้าเป็นระบบทุนนิยมในอุดมคติประชากรควรมีหุ้นในกิจการของรัฐอยู๋ในมือกันถ้วนหน้าครับ แต่ความจริงก็คือสังคมไทยยังไม่พร้อมในเรื่องนั้น เพราะการศึกษายังไม่สามารถยกระดับความเข้าใจของประชากรในเรื่องระบบทุนได้ ส่วนที่อ้างว่าธุรกิจบางประเทศเข้าตลาดหุ้นไปแล้ว ก็ไม่น่าแปลกอะไร เพราะประชากรมีความเข้าใจในระบบเศรษกิจทุนมากกว่าบ้านเราซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรม และการกระจายจำนวนหุ้นก็เป็นไปอย่างยุติธรรมและทั่วถึง เมืองไทยยังไม่พร้อมครับ เอาเวลามาพัฒนาการศึกษาเพื่อพัฒนาประเทศควบคู่ไปกับจริยธรรมก่อนดีกว่า เพื่อขจัดคนเลวออกนอกระบบทุน เมื่อคนส่วนใหญ่มีความเข้าใจในระบบ และมีจริยธรรมแล้ว ถึงเวลานั้นล่ะครับเราจะมีตลาดทุนที่เข้มแข็ง และตลาดหลักทรัพย์ของเราก็จะไม่ตกเป็นเครื่องมือหากินของพวกนักลงทุนตะวันตกที่ฉกฉวยผลประโยชน์จะระบบทุนในประเทศที่อ่อนด้อยกว่าทางเศรษกิจ โดยการปั่นหุ้น

การลงทุนในตราสารหุ้นของบ้านเราส่วนใหญ๋ยังเป็นการเก็งกำไรเพื่อหวังผลระยะสั้นครับ จึงทำให้ราคาผันผวน ไม่มีเสถียรภาพตามหลัก demand supply ที่แท้จริง ราคาหุ้นที่เห็นในวันนี้ใครจะรู้ว่ามูลค่าจริงมันเท่าไหร่ ถ้าไม่ได้เกิดจากการเก็งกำไรของนักลงทุน

No comments: