Wednesday, October 01, 2008

ข้อคิดจากเด็กชายเอกนรินทร์

‘เอกนรินทร์บินได้’ ได้เป็นหนึ่งในชุดเรื่องสั้นที่ผมตั้งใจแต่งไว้ให้เป็น “เรื่องสั้นสำหรับเยาวชน ที่แต่งให้ผู้ใหญ่อ่าน แล้วเอาไปเล่าให้เด็กฟังอีกที” พูดง่ายๆคือ เป็นเรื่องสั้นสำหรับเด็กที่ไม่ได้ให้เด็กอ่านโดยตรง เพราะมีข้อคิดบางอย่างที่เด็กอาจไม่เข้าใจ เพราะผมได้สอดแทรกข้อคิดทั้งทางตรง และโดยนัย จึงขออธิบายนัยดังกล่าวไว้ให้ เพื่อผู้ใหญ่ที่จะนำไปเล่าเป็นนิทานก่อนนอนให้เด็กฟังจะได้นำข้อคิดดังกล่าวไปถ่ายทอด ให้ได้ตรงตามความเจตนารณ์ ในการเขียนเรื่องนี้ของกระผมครับ

ความสามารถในการบินได้ของเด็กชายเอกนรินทร์นั้น เป็นสัญลักษณ์ที่ผมตั้งใจสื่อถึง ความพิเศษในเด็ก ที่มีกันทุกคน บางคนเรียนเก่ง บางคนมีความจำดี บางคนมีมนุษยสัมพันธ์ดี บางคนเล่นกีฬาเก่ง บางคนช่วยพ่อแม่ค้าขายเก่ง สุดแท้แต่ว่าเราจะมองมันว่าเป็นความพิเศษหรือไม่เท่านั้น ซึ่งผมว่ามันก็ไม่ได้แตกอะไรกับความสามารถในการบินได้ของเด็กชายเอกนริทร์เลย ซึ่งผู้ใหญ่หลายคนก็มองข้ามความสามารถเล็กๆ น้อยๆ ของเด็กเหล่านี้ และไม่ได้พัฒนาให้ขยายผลต่อไป มิหนำซ้ำ ความสามารถบางอย่างเช่นการละเล่น หรือกีฬาบางอย่างยังถูกมองว่าเป็นภัยร้ายต่อการศึกษา

สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ใครมีความสามารถ หรือใครไม่มี แต่อยู่ที่จะตระหนักหรือไม่ว่าเราล้วนมีกันทุกคน และที่สำคัญที่สุดคือจะนำความสามารถนั้นมาใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ไม่ใช่มุ่งเน้นแต่จะเอาความสามารถนั้นมาตอบสนองความต้องการของตนเองเพียงฝ่ายเดียว แล้วก่อให้เกิดปัญหาต่อผู้อื่น เหมือนดังเด็กชายเอกนรินทร์ซึ่งถึงแม้ความสามารถของเขาดูเหมือนจะวิเศษกว่าคนทั่วไป แต่สุดท้ายความสามารถนั้นกลับส่งผลร้ายมาสู่ตนเพราะนำไปใช้ในทางผิด ท้ายที่สุดนอกจากความสามารถในการบินได้ที่พิเศษเหนือคนธรรมดาได้หมดสิ้นไปแล้ว ความสามารถเพียงการเดินเท้าเหมือนคนปกติยังทำไม่ได้ด้วยซ้ำ และกว่าจะคิดได้ก็สายเสียแล้ว

ข้อคิดดังกล่าวยังสะท้อนถึงตัวผมเองที่อดีตมองไม่เห็นคุณค่าในตน และเมื่อมีโอกาสเหนือผู้อื่นก็กลับฉกฉวยโอกาสไว้เพื่อตัวเอง โดยมิได้คิดว่าโอกาสนั้นว่าแท้จริงมาจากใหน ถ้าคิดให้ถ่องแท้ก็จะเข้าใจว่ามาจากสังคม ที่หล่อหลอมให้เรามีในสิ่งที่เรามีอยู่ เช่นพ่อค้าร่ำรวยได้ก็เพราะมีลูกค้ายอมเสียเงินอุดหนุนสินค้า ผู้นำจะเป็นผู้นำได้ก็เพราะมีผู้ยอมตาม เมื่อมีผู้รับผลย่อมต้องมีผู้ให้ผล สิ่งที่ได้มาทุกอย่างล้วนมีต้นทุน หากเราคิดแต่จะตักตวงผมเอาแต่ได้อย่างเดียวโดยไม่ยอมเสีย หากแต่เราคิดแต่กำไรโดยไม่คำนึงถึงต้นทุนเสียแล้ว กำไรที่ได้ก็ย่อมไม่จีรังอะไร และยังพาลให้เกิดทุกข์อีกเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นข้อความที่มุ่งสอนในเรื่องเรื่องนี้คือ

ก่อนอื่น... คนเราต้องเห็นคุณค่าในตนเองก่อน เพราะคนทุกความมีความคุณค่าและความพิเศษแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง หรือพิการทุพพลภาพ เมื่อรู้คุณค่านั้นแล้ว ย่อมต้องคิดต่อว่าจะทำคุณค่านั้นในทางสร้างสรรค์ และก่อประโยชน์ทั้งกับตน และกับผู้อื่น หรือสังคมอย่างไรในหน้าที่หรือบทบาทของตน เพื่อเป็นการสร้างคุณค่าให้มากยิ่งๆขึ้นไปอีก การสร้างคุณค่านั้น มิใช่เรื่องลำบากยากเย็นอะไรเลย เพียงทำหน้าที่ และบทบาทของตนด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างเต็มที่ให้ดีที่สุดเท่านั้น

No comments: