Saturday, July 19, 2008

Source: from Health Today Magazine as appeared in http://women.impaqmsn.com/articles/647/47001407.html
(Retrieved 19 July 2008). Copy without adaptation and permission from author.

สารอาหาร ต้านอนุมูลอิสระ

อาหารที่เรารับประทานเข้าไปทุกวันนี้มีทั้งให้คุณและให้โทษ เป็นได้ทั้งตัวก่อโรคและเป็นยารักษา มีสุภาษิตจีนประโยคหนึ่งที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ เขียนไว้ว่า " Whatsoever was the father of a disease, an ill diet was the mother" และนักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์บางท่านถึงกับเชื่อว่า " ขบวนการแก่ " (aging) แท้จริงแล้วส่วนใหญ่เกิดจากการที่คนเราขาดสารอาหารต่างๆ ทีละเล็กทีละน้อยตั้งแต่เราเริ่มสู่วัยผู้ใหญ่จนถึงวัยชรา…ผมเห็นด้วยแต่รู้สึกว่าจะเว่อร์ไปหน่อยครับ

เนื่องจากเรายังไม่ทราบถึงกลไกที่แท้จริงของความสัมพันธ์ระหว่างอาหารและสุขภาพจึงมีทฤษฎีเกิดขึ้นมากมาย (สิ่งใดถ้านักวิทยาศาสตร์รู้แล้ว ก็มักจะมีทฤษฎีหรือคำตอบเพียงอย่างเดียว) แต่ ความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกับสุขภาพที่เป็นหลักใหญ่ๆ มีอยู่ 3 เรื่องด้วยกันคือ

  • Antioxidants ในอาหารซึ่งเป็นสิ่งที่เรากำลังพูดถึงนี้
  • Fat ไขมันเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเซลล์และเอนไซม์ต่างๆ ในร่างกาย เพราะฉะนั้นชนิดของไขมันที่เรารับประทานก็มีผลต่อสุขภาพของเราแน่นอน
  • Food sensitivities ซึ่งมีทั้งทฤษฎีเก่าและใหม่ ในทฤษฎีใหม่ เชื่อกันว่าการแพ้อาหารบางอย่างอาจไม่ได้เกิดขึ้นในทันทีทันใด และอาจมีอาการได้หลายรูปแบบ เช่น ปวดศีรษะหรือ อ่อนเพลีย เป็นต้น

Antioxidant (สารต้านอนุมูลอิสระ)

ในปี 2497 Denham Harman, M.D, Ph.D. จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ของ University of Nebraska เป็นผู้เสนอเรื่อง”สารอนุมูลอิสระ” (free radicals) ขึ้น ซึ่งในเวลานั้นมีคนสนใจน้อยมากแต่นายแพทย์ Harman ก็ไม่ย่อท้อ พยายามทำการทดลองหลายครั้งจนในที่สุดก็เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

แล้วเจ้าอนุมูลอิสระมันคืออะไรมาจากไหนและเกี่ยวกับ antioxidant ได้อย่างไร ถ้าจะให้เขียนกันจริงๆ สามารถเขียนเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ได้หนึ่งเล่มเลยครับ ซึ่งมีคนเขียนไว้มากมายพอควร ผมเลยขออนุญาตย่อสั้นๆ นะครับ

เริ่มกันเลยนะ…สูดหายใจเข้าลึกๆ…. เวลาเราสูดหายใจเข้าออกซิเจนก็จะเข้าไปในปอดไปสู่เนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกายโดยอาศัยเส้นเลือดต่างๆ แล้วเนื้อเยื่อก็นำออกซิเจนไปใช้ในขบวนการต่างๆ (oxidation) เพื่อทำให้เกิดพลังงาน การสังเคราะห์สารต่างๆ เช่น โปรตีน ไขมัน นอกจากนี้จะเกิดอนุมูลอิสระ (free radical)ขึ้น ซึ่งเป็นสารที่มีอิเล็กตรอนไม่ครบคู่ จึงไม่มีเสถียรภาพ (stable) มันจึงต้องพยายามหาคู่ของมันเพื่อให้เกิดเสถียรภาพ ฟังดูเป็นศัพท์เทคนิคนะครับแต่ในความเป็นจริงอนุมูลอิสระก็มีกลไกเช่นว่านี้ ตอนที่มันวิ่งหาคู่นี้ซิมันไม่วิ่งเปล่าๆ แต่มันจะทำลายเซลล์และสิ่งต่างๆ ด้วย รวมทั้ง DNA ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าเป็นสาเหตุสำคัญของขบวนการแก่ (aging) และโรคต่างๆ เป็นจำนวนมากรวมทั้งมะเร็งด้วย…หายใจออกได้แล้วครับ

ซึ่งตอนนี้ก็ถึงพระเอกขี่ม้าขาว คือ สารต้านอนุมูลอิสระหรือ antioxidant มาช่วยให้อิเล็กตรอนของสารอนุมูลอิสระมีคู่และมีความเสถียรภาพขึ้น จึงไม่ต้องวิ่งไปทำลายใครอีก Antioxidants มีหลายชนิด แต่ที่สำคัญมีอยู่ 3-4 ชนิด ซึ่งส่วนมากจะเรียกกันว่า antioxidant cocktail คือ Vitamin A, C, E และ selenium (เซลิเนียม) ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภคสรุปอย่างง่ายๆ ได้ดังนี้ครับ

Vitamin A (Beta carotene)

ประโยชน์

  • เป็นสาร antioxidant ต้านอนุมูลอิสระ
  • ช่วยการมองเห็น, ผิวหนังแข็งแรง
  • ช่วยระบบภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กันเชื้อโรค

แหล่งอาหาร

  • เบต้า แคโรทีนมีมากในผักและผลไม้ที่มีสีเหลืองส้ม แครอท, ฟักทอง, มะเขือเทศ, ผักใบเขียว
  • RDA (Recommened Dietary Allowance) หมายถึงปริมาณที่แนะนำต่อวัน
  • ผู้ชาย 5000 IU (3 mg beta carotene)
  • ผู้หญิง 4000 IU (2.4 mg beta carotene)
  • ปริมาณสำหรับ Antioxidant 25,000 IU หรือ15 mg beta carotene(น้ำแครอท 1 แก้ว มี 24.2 mg beta carotene)

ข้อแนะนำ

  • ควรรับประทานพร้อมอาหาร เพราะเป็นวิตามินที่ละลายในไข มัน
  • ควรรับประทานเบต้า แคโรทีนจากธรรมชาติ คือผักผลไม้หลายๆ ชนิด
  • ถ้าได้รับปริมาณมากไปอาจทำให้ผิวหนังมีสีเหลืองได้ ซึ่งจะหายไปเมื่อลดหรือหยุดรับประทาน
  • เบต้า แคโรทีนจะได้จากพืช ส่วน Vitamin A ชนิด retinol จะได้มาจากสัตว์ เพราะวิตามินชนิดนี้อาจทำให้เกิดโทษต่อตับได้

    ในปี 1994 มีการศึกษาที่น่าฉงนจาก Finland พบว่าคนที่สูบบุหรี่อย่างหนักที่รับประทานเบต้า แคโรทีนเสริม(20 มก.) มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่า กลุ่มสูบบุหรี่หนักที่ไม่ได้รับเบต้า แคโรทีนเสมอ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ส่วนมากไม่เชื่อผลการศึกษานี้ แต่บางท่านก็แนะนำคนที่สูบบุหรี่ว่าไม่ควรรับประทานเบต้า แคโรทีน เสริมจนกว่าจะมีการศึกษาที่ชัดเจนมากกว่านี้


Vitamin C (Ascorbic acid)

ประโยชน์

  • เป็นสาร antioxidant
  • ช่วยในการสร้างเนื้อเยื่อและการรักษาแผล
  • ช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรค
  • ช่วยการสร้างสารสื่อประสาท (neurotransmitter) เช่น นอร์อะดรีนาลีนและซีโรโทนิน

แหล่งอาหาร

  • ผลไม้สดจำพวกส้ม ฝรั่ง สตรอเบอรี่ ฯลฯ
  • RDA ผู้ใหญ่ 60 มก. (ส้มขนาดกลาง 2 ผล หรือฝรั่ง 4-5 ชิ้น)
  • สตรีตั้งครรภ์ 70 มก.
  • คนสูบบุหรี่ >80 มก.
  • ปริมาณสำหรับ antioxidant 250-500 มก. แบ่งให้วันละ 2 ครั้ง เพราะถ้ามากกว่านี้เซลล์ในร่างกายไม่สามารถดูดซึมไปใช้ได้ ก็จำเป็นต้องขับทิ้งออกทางปัสสาวะ

ข้อแนะนำ

  • ถ้าไม่สบาย หรือเป็นหวัดควรเพิ่มปริมาณให้มากกว่านี้ได้
  • วิตามินซีเป็นวิตามินที่ละลายในน้ำเพราะฉะนั้นการรับประทานมากเกินไปเล็กน้อยก็จะถูกขับออกได้ง่าย
  • ยังมีข้อถกเถียงกันว่าวิตามินซีสามารถทำให้เกิดนิ่วในไตได้หรือไม่

Vitamin E (Tocopherols)

หน้าที่

  • เป็นสาร antioxidant
  • บำรุงให้เซลล์ในร่างกายดีและแข็งแรงอยู่เสมอ
  • ช่วยป้องกันการทำลายเซลล์ในร่างกายจากมลภาวะต่างๆ

แหล่งอาหาร

  • น้ำมันพืช ถั่ว ผักใบเขียว ไข่ จมูกข้าวสาลี ขนมปังโฮลวีท ฯลฯ
  • RDA ผู้ชายและสตรีตั้งครรภ์ 15 IU (10 มก.)
  • ผู้หญิง 12 IU (8 มก.)
  • ปริมาณสำหรับ antioxidant อายุ <>
  • อายุ > 40 ปี = 800 IU

ข้อแนะนำ

  • ควรเลือกชนิดธรรมชาติ (d-alpha tocopherol รวมถึง Mixed tocopherols)
  • รับประทานพร้อมอาหาร เพราะเป็นวิตามินที่ะลายในไขมัน
  • นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าขนาด 400-800 IU ต่อวันค่อนข้างปลอดภัย (ขนาดที่มากกว่า 1000 IU อาจเป็นพิษได้)
  • ขนาดที่มากกว่า 400 IU จะทำหน้าที่ป้องกันการแข็งตัวของเลือดได้ (anticlotting)เช่นเดียวกับ แอสไพริน
  • ท่านที่มีปัญหาเรื่องการแข็งตัวของเลือดหรือได้รับยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดควรสอบถามแพทย์ก่อนที่จะรับประทาน Vitamin E

Selenium (ซิลิเนียม)

ประโยชน์

  • สาร antioxidant
  • ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
  • แหล่งอาหาร ธัญพืชเต็มเมล็ด (Whole grain) กระเทียม ไข่ อาหารทะเล หน่อไม้ฝรั่ง ฯลฯ
  • RDA ผู้ชาย 70 mcg
  • ผู้หญิง 55 mcg
  • สตรีตั้งครรภ์ 65 mcg

ปริมาณสำหรับ antioxidant

  • 200 mcg
  • ไม่ควรใช้ขนาดเกิน 400 mcg เพราะอาจเป็นพิษได้
  • ควรใช้อยู่ในรูป yeast-bound

จะเห็นได้ว่าวิตามินและแร่ธาตุ ในปริมาณที่เหมาะกับantioxidant ส่วนมากจะต้องเพิ่มปริมาณมากกว่า RDA ซึ่งบางอย่างก็ไม่สามารถรับประทานได้อย่างเพียงพอ ก็อาจจำเป็นที่จะต้องเสริมด้วยผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผมเองไม่ได้ต่อต้านผลิตภัณฑ์เหล่านี้ แต่อยากให้ข้อคิดสะกิดกันสักนิดว่า ถ้าเลือกผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นทางเลือกหนึ่งก็ยิ่งต้องศึกษาให้ดีก่อนถึงโทษของสารแต่ละอย่างหากได้รับมากเกินไป ควรรู้ข้อดี ข้อเสีย ข้อควรระวัง ผมเห็นบางคนรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในแต่ละมื้อจำนวนมากแทบจะอิ่มแทนอาหารได้เลยครับ อย่าลืมว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก็คืออาหารเสริมไม่สามารถแทนอาหารหลักได้ครับ ควรระมัดระวังในกรณีที่รับประทานมากเกินไปด้วยครับ เพราะอาจเกิดโทษขึ้นกับร่างกายได้

สุดท้ายนี้ผมจบด้วยหลัก "ล" ที่ผมอ่านเจอจากจดหมายข่าวฉบับหนึ่ง เข้าท่าดีครับเลยหยิบมาฝากกัน

ลด อาหารไขมันจากสัตว์
เลิก อาหารกระป๋องที่ใส่สีสังเคราะห์ และสารเคมี เช่น สารกันบูด หรือสีที่ไม่ใช่สีผสมอาหาร
เลี่ยง อาหารปิ้ง ย่าง เผา อบ รมควัน
ลุ้น อาหารสด ผัก ผลไม้ อาหารสมุนไพรปลอดสารพิษ


ที่มาข้อมูล :นิตยสาร Health Today

No comments: