Thursday, January 17, 2013


Holding company คือ บริษัทที่ประกอบธุรกิจประหลาดกว่าบริษัททั้งปวง คือ ไม่ซื้อขายสินค้าหรือบริการ แต่เที่ยวได้ซื้อหุ้นของบริษัทต่างๆมาเก็บไว้ เพื่อเข้าไปมีอำนาจบริหารงานบ้าง เพื่อเก็งกำไรบ้าง หรือทำทั้งสองอย่าง แล้วแต่โอกาส เป็นพวกใช้เงินต่อเงิน

ดร.บุญเสริม บุญเจริญผล 

ขอบคุณข้อมูลละเอียดยิบเรื่อง Hedge fund ซึ่งต่างจาก Mutual fund หรือ กองทุนรวม ธรรมดาๆ เขียนโดย 

กมล กมลตระกูล 

วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4158  ประชาชาติธุรกิจ

เฮดจ์ฟันด์ (Hedge Funds) ได้ชื่อว่ากองทุนปีศาจ วิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งแล้วครั้งเล่าตั้งแต่วิกฤตหนี้ในละตินอเมริกาในทศวรรษ 1980 , วิกฤตการเงินเตกิลา , วิกฤตฟองสบู่แตก วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 (1997) และล่าสุดวิกฤตอสังหาฯถล่ม (subprime crisis) บางคนเรียกว่า วิกฤตคาวบอย หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 (2008) ล้วนเป็นผลมาจากความกระหายเลือดของกองทุนปีศาจเหล่านี้ การได้รับชื่อว่า กองทุนปีศาจ เพราะว่ากองทุนเหล่านี้ไม่มีตัวตน ไม่มีทรัพย์สินของตนเอง จับต้องไม่ได้ แต่หลอกคนได้ สูบเลือดคนได้เหมือนปีศาจ
การทำงานหรือการบริหารของกองทุน ต้องใช้กลไกของสถาบันการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีรายได้(fee) จากการให้บริการหรือเป็นกลไกในการทำงานแทนกองทุนปีศาจเพื่อแลกกับค่าบริการ ที่สามารถคิดได้สูงลิบลิ่วตามปริมาณเงินที่ผ่านเข้า-ออก สถาบันการเงินและบริษัทหลักทรัพย์ส่วนใหญตั้งกองทุนหรือรับบริหารกองทุน โดยการตั้งบริษัทลูกขึ้นมาดำเนินการ เมื่อพูดถึงกองทุนปีศาจจึงรวมถึงสถาบันการเงินและรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนเหล่านี้ด้วย
เศรษฐกิจโลกที่อยู่ใต้กงเล็บของกองทุนปีศาจ จึงได้ชื่อว่า ระบอบเศรษฐกิจกาสิโน (casino economy) หรือทุนนิยมกาสิโน (casino capitalism)
กำเนิดเฮดจ์ฟันด์
เฮดจ์ฟันด์ถือกำเนิดขึ้นในปี 1949 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงได้ 4 ปี นายอัลเฟรด โจนส์ (Alfred W. Jones) ผู้สื่อข่าวด้านตลาดทุนและตลาดเงิน ซึ่งคร่ำหวอดกับการสังเกตการเคลื่อนไหวของตลาดทุนและตลาดเงิน จึงได้ตั้งกองทุนขึ้นมาลงทุนที่สวนทางกับการลงทุนทั่วๆไปในสมัยนั้น โดยการเลือกซื้อหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งและราคาขึ้นมากกว่าอัตราเฉลี่ยของตลาด ในขณะเดียวกันเสนอขายราคาหุ้นตัวนั้นเมื่อราคาตกลงระดับหนึ่งพร้อมกันเพื่อลดการขาดทุนจำนวนมากๆในคราเดียว รวมทั้งเลือกขายหุ้นประเภทห่วยแตกล่วงหน้า(selling short) ดังนั้นเมื่อตลาดหุ้นขึ้นเขาก็จะได้กำไรจากตัวแรกมาชดเชยตัวหลัง หรือในทางตรงกันข้าม ซึ่งยุทธศาสตร์นี้เป็นการลดความเสี่ยงในตลาดทุนและตลาดเงินที่มีความผันผวน คาดการณ์ไม่ได้ เต็มไปด้วยข่าวลือ ข่าวลวง และข่าวลับ ลวง พราง
กลยุทธ์เฮดจ์ฟันด์
กองทุนและเทคนิคหรือกลยุทธ์ที่เขาเริ่มใช้เป็นคนแรกจึงได้ชื่อว่า เฮดจ์ฟันด์ (Hedge Funds) และต่อมาได้พัฒนาให้มีความซับซ้อน และนำมาใช้ในทุกตลาด คือ ตลาดทุน ตลาดเงิน ตลาดอนุพันธ์ (derivatives) ตลาดคอมมิวดิตี้ (commodity) ตลาดพันธบัตร (bonds market) และตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา (foreign exchange) โดยพ่อมดการเงินรุ่นต่อๆมาจนกลายเป็นกระแสหลักที่รู้กันแต่วงในของวาณิชย์ธนกิจ (investment bankers)
ส่วนบรรดาแมลงเม่า และนักลงทุน หรือผู้บริหารกองทุน ตามตำราปัจจัยพื้นฐานก็มักจะหมดตัวหรือทำให้ ผู้ถือหุ้น ผู้ร่วมลงทุน ประเภทกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจบชีวิตเหมือนกับแมลงเม่าที่วิ่งเข้าหากองไฟไปด้วย
ตัวอย่างกลยุทธ์ที่ใช้ เช่น การตั้งคำสั่งซื้อและขายพร้อมกันในตลาดเดียวกันหรือคนละตลาดเพื่อกินกำไรส่วนต่าง(arbitrage) , การซื้อเมื่อตลาดอยู่ในช่วงขาขึ้นและขายล่วงหน้าเมื่อตลาดอยู่ในภาวะขาลง long-short investing techniques , การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ซื้อขายแทนคน ซึ่งเรียกว่า quantitative investing หรือ program trading ซึ่งมีการตั้งโปรแกรมทั้งซื้อหรือขายเมื่อดัชนีตัวใดตัวหนึ่ง หรือดัชนีของตลาด หรือราคาหุ้น หรืออัตราแลกเปลี่ยนขึ้นหรือลงถึงจุดนั้น ก็จะสั่งซื้อหรือขายโดยอัตโนมัติใน เสี้ยววินาที ซึ่งคำสั่งเหล่านี้มีนับหมื่นๆคำสั่งต่อวัน หรือเป็นแสนเมื่อรวมของทุกกองทุนเข้าด้วยกัน โปรแกรมเทรดดิ้งนี้เองเป็นต้นตอของความผันผวนของตลาดทุน ตลาดเงิน และตลาดอื่นๆ ทุกตลาด ที่เรียกว่า panic trading ซึ่งเกิดจากการตั้งคำสั่งซื้อขายล่วงหน้าด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั่นเอง การซื้อก่อนจ่ายทีหลัง การซื้อขายภายในวันเดียวกัน หรือกู้เงินมาซื้อ ที่เรียกว่า leverage
กลยุทธ์การกู้เงินมาซื้อเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ ทุกกองทุนนำมาใช้เพราะเป็นการเพิ่มอำนาจซื้อและเพิ่มผลกำไรได้อย่างมหาศาล ถ้าหากว่าบริหารไม่ผิดพลาด เช่น เมื่อกองทุนได้รับเงินมาบริหาร 10 เหรียญ กองทุนอาจกู้เงินเพิ่มได้ 90 เหรียญ รวมเป็น 100 เหรียญ เพื่อนำไปเก็งกำไรในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา หรือตลาดอนุพันธ์ หรือตลาดหุ้น และหากว่าขาดทุนเพียงร้อยละ 10 ก็เท่ากับว่ากองทุนนั้นหมดไปอย่างสิ้นเชิง แต่ถ้าได้กำไรร้อยละ 10 ก็เท่ากับว่าได้กำไร 100% ของเงินทุน
กรณีศึกษาตัวอย่างข้างต้น คือ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2008 บริษัท Lehman Brothers ซึ่งได้ก่อตั้งมานานถึง 158 ปี เป็นบริษัทหลักทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของอเมริกา และเคยเข้าร่วมขบวนการดูดเลือดคนไทยเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 โดยเป็นทั้งบริษัทที่ปรึกษา และตีราคาทรัพย์สินเอ็นพีแอล แล้วตั้งบริษัทลูกขึ้นมาซื้อทรัพย์สินและหนี้สินในราคาต่ำกว่าราคาตลาด (ทรัพย์ของ ป.ร.ศ.) แล้วไปบีบขายให้ลูกหนี้ในราคาสูงลิ่ว เมื่อลูกหนี้ซื้อไม่ไหวก็ต้องถูกยึดกิจการ บัดนี้กรรมได้สนองโดยได้ยื่นเรื่องต่อศาลให้เป็นบริษัทล้มละลายโดยมีหนี้สิน เฉพาะที่เป็นพันธบัตร 768 แสนล้านเหรียญ (768 billion) ซึ่งเท่ากับประมาณแผ่นดินไทย 30 ปี ในขณะที่ทรัพย์สินในกองทุนมีเพียง 639 แสนล้านเหรียญ (639 billion) คือติดลบ
ในปี 2003 Lehman Brothers มีเงินทุน 13,000 ล้านเหรียญ (13 billion) แต่มีบัญชีทรัพย์สินมากถึง 31,200 ล้านเหรียญ (312 billion) ซึ่งแปลว่าทุกๆเงินทุน 1 เหรียญ Lehman Brothers กู้มาเพิ่มอีก 24 เหรียญ(เท่า) เพื่อเก็งกำไร พอถึงปี 2007 Lehman Brothers มีเงินทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 73 กลายเป็น 22.5 พันล้านเหรียญ แต่มีบัญชีทรัพย์สินมากถึง 691 พันล้าน ซึ่งแปลว่าทุกๆ เงินทุน 1 เหรียญ Lehman Brothers กู้เพิ่มเป็น 31 เท่าเพื่อเก็งกำไร
การล้มละลายของ Lehman Brothers ที่สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนคิดเป็นเม็ดเงิน 639 พันล้าน เป็นคดีล้มละลายที่ใหญ่กว่าการล้มละลายของบริษัทพลังงาน ENRON ในปี 2001 ถึง 10 เท่า กรณี ENRON กลายเป็นตำนานมหากาพย์แห่งการฉ้อฉลที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน สถาบันจัดอันดับ และสื่อด้านเศรษฐกิจ ซึ่งล้วนพัวพันเกี่ยวข้องโยงใยกันเหมือนใยแมงมุม ไม่ต่างกับกรณีธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ หรือบีบีซี ซึ่งมีนายราเกซ สักเสนา และนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ เป็นผู้ต้องหา แต่มีนักการเมืองอีกจำนวนมากที่โยงใยเกี่ยวข้อง
เมื่อครั้งกองทุน Long-Term Capital Management ซึ่งก่อตั้งโดยนักเศรษฐศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบล 2 คน และเคยทำกำไรให้นักลงทุนสูงสุดถึงร้อยละ 25-50 จนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเกือบทุกสาขา และกองทุนของมหาวิทยาลัย มูลนิธิต่างแย่งกันเสนอให้กองทุนนี้บริหารให้ โดยกองทุนนี้มีเงินที่ได้รับมาบริหาร 40,000 ล้านเหรียญ แต่สามารถกู้เงินมาลงทุนได้ 12,500 ล้านเหรียญ หรือ 30 เท่าของเม็ดเงินที่ตนมี รวมทั้งมีตัวเลขงบดุลในบัญชีสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญ ด้วยวิธีการซื้อแบบใช้ margin ซึ่งใช้เงินเพียงร้อยละ 10 ในการลงทุน 100 แต่ในที่สุดกองทุนนี้ก็ล้มครืนลง และประธานาธิบดีคลินตันต้องกระโดดเข้ามาอุ้มด้วยการใช้เงินภาษีอากรของคน อเมริกันทั้งประเทศเพื่อไม่ให้ระบบเศรษฐกิจของชาติล่มแบบโดมิโน
กลยุทธ์ข้างต้นนี้เอง ที่ประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งประชาชนมีเงินออมมากและมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Pension Funds) ในทุกภาคส่วนรวมทั้งผู้ใช้แรงงานในประเทศเหล่านี้เป็นเจ้าของทุนปีศาจ และล้วนมีส่วนได้ส่วนเสียทั้งสิ้น จึงมีนโยบายบีบให้ประเทศกำลังพัฒนาทุกประเทศก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ตลาดทุนและตลาดเงิน หรือแปรรูปตลาดหลักทรัพย์ฯ แปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยข้ออ้างว่าเพื่อความทันสมัย เพื่อเปิดช่องทางการระดมทุนมาขยายธุรกิจ และเป็นเรื่องการค้าเสรีหรือการเปิดเสรีเพื่อให้กองทุนปีศาจเหล่านี้สามารถ เข้ามาสูบเลือดกลับไปเลี้ยงประชาชนในชาติของตน
เฮดจ์ฟันด์ กองทุนปีศาจ(1)
คอลัมน์ เดินคนละฟาก
กมล กมลตระกูล kamolt@yahoo.com
วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4158  ประชาชาติธุรกิจ

####
เฮดจ์ฟันด์ กองทุนปีศาจ (จบ) ทุนปีศาจครอบโลก
คอลัมน์ เดินคนละฟาก
กมล กมลตระกูล kamolt@yahoo.com
วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4159  ประชาชาติธุรกิจ
เพียงแค่ขนาดของกองทุนปีศาจนั้นก็มหาศาลแล้ว เช่น กองทุนที่ใหญ่ที่สุด Bridgewater Associates บริหารเม็ดเงินจำนวน 38,600 ล้านเหรียญ หรือ 11 ล้านล้านบาท หรือ กองทุน Soros Fund Management ของพ่อมดการเงิน Soros มีทรัพย์สิน 2 หมื่นล้านเหรียญ หรือ 7 แสนล้านบาท ซึ่งเกือบเท่ากับงบประมาณแผ่นดินไทยทั้งปีในบางปี (1 ล้านล้านบาทเศษ) แต่สามารถซื้อขายโดยวิธี Leverage คือกู้เงินมาซื้อขาย หรือซื้อขายเงินเชื่อแล้วมาหักกำไรขาดทุนทีหลังได้มากถึง 10-25 เท่า ของเม็ดเงินของกองทุน ดังนั้นจึงไม่มีตลาดทุนและตลาดเงินที่ไหนของโลกสามารถต้านการโจมตี หรือการ “ทุบ” ของกองทุนปีศาจเหล่านี้ได้

ใน 10 กองทุนปีศาจเหล่านี้ รับบริหารเม็ดเงินเกือบ 3 แสนล้านเหรียญต่อปี ในขณะที่กองทุนปีศาจทั้งหมดในโลก บริหารเม็ดเงินประมาณ 2.5 ล้านล้านเหรียญ (2.5 trillion)
edi05191152p2
จากการเปรียบเทียบขนาดของกองทุน เมื่อก่อนเกิดวิกฤต subprime และภายหลัง กองทุนเหล่านี้ไม่ได้เล็กลงเลย เพียงแต่สลับตำแหน่งกันตามความสามารถในการแข่งขัน
ก่อนเกิดวิกฤตอสังหาฯถล่ม (subprime crisis) ในปี 2008 กฎหมายหรือระเบียบที่ควบคุมกองทุนปีศาจมีน้อยมาก เพราะรัฐเห็นว่าเป็นเรื่องของนักลงทุนใหญ่ๆที่ไม่เกี่ยวกับสาธารณชน เช่น ไม่มีระเบียบเรื่องสัดส่วนเงินสำรอง เรื่องสัดส่วนของเงินกู้ต่อทุน และนอกจากนี้ กองทุน (offshore) ส่วนใหญ่จดทะเบียนในประเทศหรือเมืองที่เรียกว่า tax haven หรือเมืองท่าปลอดภาษี เช่น Cayman Island เป็นที่ตั้งของกองทุนเหล่านี้ถึงร้อยละ 67 ตามมาด้วย British Virgin Islands ร้อยละ 11% และ Bermuda ร้อยละ 11% รวมทั้งรัฐ Delaware ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองทุนภายในประเทศ (onshore) มากถึงร้อยละ 64
ตัวเลขในปี 2004 มีกองทุนปีศาจในอเมริกามากถึง 7,000 กองทุน ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภาคตะวันออก เช่น รัฐนิวยอร์ก และคอนเนกทิคัต
กรุงลอนดอนเป็นศูนย์กลางของกองทุนปีศาจของยุโรป โดยเป็นที่ตั้งของกองทุนเหล่านี้ถึงร้อยละ 75 และมีทรัพย์สินที่รับบริหารจัดการในปี 2008 เป็นเงิน 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นเงินจากทวีปเอเชีย ร้อยละ 25 ส่วนอีกร้อยละ 25 ของเงินจากเอเชีย บริหารโดยกลุ่มทุนของอเมริกา
ในเอเชียก็มีสิงคโปร์และฮ่องกงเป็นศูนย์กลางใหญ่ หรือที่ตั้งสาขาของกองทุนปีศาจเหล่านี้
อัตราค่าบริหารกองทุน
แรงจูงใจหรือน้ำเลี้ยงของกองทุนปีศาจ คือค่าบริหารกองทุน (management fee) , ค่าส่วนแบ่งจากผลกำไร (performance fee) อัตรามาตรฐานหรือราคาตลาดของค่าบริหารกองทุน คือ ร้อยละ 2 ต่อปี ของมูลค่าเงินของลูกค้าที่มอบให้บริหาร แต่ต้องจ่ายเป็นรายเดือนหรือรายไตรมาส เนื่องจากยอดเงินที่รับบริหารมีจำนวนมาก รายได้ส่วนนี้จึงเป็นรายได้ที่เป็นค่าใช้จ่ายของสำนักงานและเป็นผลกำไรด้วย
ค่าส่วนแบ่งจากผลกำไร (performance fee) โดยทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 20 ของผลกำไรสุทธิจากการบริหารกองทุนนั้นๆ แต่บางบริษัทอาจจะคิดมากกว่านี้ เช่น Steven Cohen”s SAC Capital Partners คิดร้อยละ 35-50 หรือ Jim Simons” Medallion Fund คิดร้อยละ 45
ค่าส่วนแบ่งผลกำไรนี้มักนำมาแบ่งปันกันในหมู่ผู้บริหาร ในรูปของโบนัส เงินเดือน สิทธิซื้อหุ้นของบริษัท (stock option) และเป็นแรงจูงใจให้ผู้บริหารกองทุนปีศาจเหล่านี้ใช้วิธีการลงทุนที่ “สุ่มเสี่ยง” เพื่อหวังผลตอบแทนสูงและได้ส่วนแบ่งสูงไปด้วย หากคาดการณ์ถูกก็จะสร้างชื่อเสียง และมีกองทุนหรือมูลนิธิ หรือสถาบันการเงินอื่นๆ แห่กันนำเงินมาให้บริหาร หากตลาดไม่เป็นไปตามคาด ทุกอย่างก็ล้มพังครืนเหมือนวิกฤตการเงินในแต่ละช่วง ซึ่งวนเวียนกลับมาทุก 10 ปี เป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยซ้ำแล้วซ้ำเล่า
Richard Fuld , ประธานของ Lehman Brothers ได้ถูกนาย Henry Waxman (D-CA) ส.ส.พรรคเดโมแครตจากรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นกรรมาธิการด้านปฏิรูประบบงานของรัฐ เรียกมาให้การ เพื่อสอบสวนและตั้งคำถามว่า “บริษัทของคุณยื่นเป็นบริษัทล้มละลาย แต่คุณกลับรับเงินตอบแทนที่ดูดไปจากบริษัท เป็นเงินมากถึง 480 ล้านเหรียญ นั้นเป็นธรรมหรือไม่”
สถาบันจัดอันดับ
เครื่องมือที่สำคัญของกองทุนปีศาจ คือ สถาบันจัดอันดับ เช่น Moody”s และ Standard & Poor”s นิตยสารและ น.ส.พ.ธุรกิจ และการเงิน รายงานประจำเดือนของสถาบันการเงิน หรือกองทุน เช่น น.ส.พ.วอลล์สตรีต, Forbes, Business Week ฯลฯ ซึ่งกองทุนปีศาจเป็นผู้ให้โฆษณารายใหญ่ หรือมีผู้บริหารที่รู้จักกัน มีผลประโยชน์ร่วมกัน หรือเป็นบอร์ดไขว้กัน ดังนั้นเมื่อมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ หรือรายงานข่าว (ลือ ลับ ลวง พราง) ทำให้ผู้ลงทุนทั่วไปแตกตื่นเทขายหุ้น แล้วถูกช้อนซื้อ หรือในทางตรงกันข้าม หรือรัฐบาลหรือนักการเมืองประเทศกำลังพัฒนาแตกตื่น และออกมาตรการหรือกฎหมายในลักษณะเต้นตามเพลงที่เขาเปิด และติดกับดักการเงิน หรือกับดักหนี้
เมื่อไรจะตาสว่างกัน(เสียที)
แน่นอนว่า การปฏิเสธตลาดหลักทรัพย์ ตลาดทุน ตลาดเงิน หรือตลาดอัตราแลกเปลี่ยน เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในภาวะปัจจุบัน แต่การเปิดหูเปิดตาให้ประชาชนเรียนรู้และรู้เท่าทันความจริงเชิงประจักษ์ที่ มีหลักฐานยืนยันได้ และมีเหตุการณ์ของวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นพักๆ และการที่รัฐบาลแต่ละประเทศต้องนำเงินภาษีอากรมาอุ้มกองทุนปีศาจเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยัน
การให้การศึกษากับประชาชนถึงเบื้องหน้าเบื้องหลัง เป็นเรื่องสำคัญที่มิใช่การรู้ไม่เท่าทันและเทศนาให้ประชาชนยิ่งโง่งมและถูกหลอกต่อๆไปด้วยคาถาว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ คือ ตัวชี้วัดเศรษฐกิจของชาติ และมีการใช้เงินภาษีเข้าอุ้มเมื่อเกิดวิกฤต แต่ความจริงเศรษฐกิจโลกในวันนี้ ก็ไม่ต่างจากบ่อนที่มาเก๊า หรือลาสเวกัสนั่นเอง
นอกจากนี้รัฐต้องไม่งมโข่งหลับหูหลับตาเชื่อในเรื่องการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์ หรือรัฐวิสาหกิจ เพื่อนำเข้าตลาดหุ้น ทั้งๆที่เป็นรายได้ของรัฐ หรือการเปิดเสรีอย่างหลับหูหลับตา แล้วปล่อยให้ทุนปีศาจเข้ามาดูดเลือดคนในชาติได้อย่างเสรีโดยปราศจากการควบ คุม ด้วยมาตรการภาษี หรือมาตรการอื่นๆ ที่เป็นการป้องปรามกองทุนปีศาจที่ไร้คุณธรรมเหล่านี้เข้ามาควบคุมและมุ่งหากำไรอย่างเสรี

LTF และ RMF ต่างกันอย่างไร

LTF เป็นการออมระยะเวลาหนึ่ง อย่างน้อย 5 ปีจึงจะขายคืนหน่วยลงทุนได้ มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงเพราะนำไปลงทุนในหุ้นตลท จำนวนเงินที่นำไปซื้อหน่วยลงทุนสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ต่อปี แต่ต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี เงินปันผลอาจมีหรือไม่ก็ได้แล้วแต่นโยบายผู้จัดการกองทุน

RMF เป็นการออมระยะยาวเพื่อชีวิตหลังเกษียณ มีความเสี่ยงน้อยกว่าเพราะกระจายการลงทุนไปยังตราสารหนี้ด้วยไม่ใช่ตราสารทุนอย่างเดียว ต้องถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี และขายคืนหน่วยลงทุนได้ก็ต่อเมื่อผู้ถืออายุครบ 55 ปี ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี ต่างจาก LTF ซึ่งไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่อง เงินปันผลไม่มี จำนวนเงินที่นำไปซื้อหน่วยลงทุนสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ต่อปี และเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กบข แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี

เนื่องจากวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุน LTF และ RMF มีที่มาแตกต่างกัน สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่รัฐบาลให้มานั้น จึงไม่นำมานับรวมกัน นั่นทำให้ผู้ลงทุนสามารถที่จะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้สูงสุดถึง 1,000,000 บาทต่อปี จาก LTF 500,000 บาท และ RMF อีก 500,000 บาท เพียงแต่ผู้ถือหน่วยลงทุนจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของแต่ละกองทุนให้ครบถ้วน จึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีนั้น

ที่มา: Thailand Securities Institute (TSI), The Stock Exchange of Thailand
http://www.tsi-thailand.org/index.php?option=com_content&task=view&id=1845&Itemid=1579

Thursday, January 10, 2013

"Violence comes from hatred, hatred comes from fear, and fear comes from ignorance."