Friday, April 27, 2012

สงครามราคา: ผลกระทบจากบทบาทที่เปลี่ยนไปของตัวละครในห่วงโซ่อุปทาน (ข้อคิดจากการเดินทางไปเยี่ยม supplier ที่มาเลเซีย สิงคโปร์ และตัวแทนจำหน่ายและผู้ค้าส่งที่ หาดใหญ่)



การกระจายสินค้าเริ่มต้นจาก ร้านค้าส่งวัตถุดิบให้กับโรงงานผลิต โรงงานผลิตทำหน้าที่ผลิตสินค้าให้กับผู้จัดจำหน่าย ผู้จัดจำหน่ายสร้างลูกข่ายตัวแทนจำหน่ายของตนในแต่ละภูมิภาคทั้งภายในและต่างประเทศ ตัวแทนจำหน่ายโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้า และส่งสินค้าให้พ่อค้าคนกลางซึ่งรับสินค้าในราคาขายส่งก่อนร้านค้าส่งขายให้ร้านค้าปลีกอีกทอดหนึ่ง วัฐจักรนี้เกิดขึ้นมาช้านานแล้ว เอื้อประโยชน์ให้กับตัวละครในระบบทุกฝ่ายเพราะบทบาทของตัวละครในห่วงโซ่อุปทานนี้ชัดเจน และทุกคนเป็นมืออาชีพ รู้บทบาทของตนชัดเจน


ปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารก้าวหน้ามากจนทำให้ระยะห่างระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคแคบลง ผู้ผลิตพึ่งพิงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของผู้จัดจำหน่ายน้อยลง เพราะผู้บริโภคมีช่องทางเข้าหาผู้ผลิตใกล้ชิดมากขึ้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวน่าจะทำให้จำนวนคนกลางที่อยู่ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคน้อยลง แต่ไฉนเลยจำนวนคนกลางเหล่านั้นกลับมีมากขึ้น ในพื้นที่ยืนที่แคบลงๆทุกที เมื่อตัวละครมีมากขึ้น ก็เหมือนคนที่เบียดเสียดกันอยู่ห้องที่มีพื้นที่เท่าเดิม เมื่อคนอยู่กันหลายคนในพื้นที่จำกัดก็ต้องมีเหยียบเท้ากันบ้าง มากเข้าก็เกิดปัญหา คนที่อยู่ได้คือคนตัวใหญ่ที่เหยียบเท้าคนอื่น ส่วนที่ตัวเล็กหน่อยก็ถูกเขาเหยียบเท้า ตัวละครที่เล็กที่สุดจะถูกขจัดไปจากระบบก่อนเพื่อน และค่อยๆไล่ขึ้นมาเรื่อยๆ


อำนาจต่อรองของผู้ผลิตที่มีต่อผู้จัดจำหน่ายมีมากขึ้น ผู้จัดจำหน่ายเองก็มีอำนาจต่อรองกับตัวแทนจำหน่ายมากขึ้นเช่นกัน ตัวแทนจำหน่ายเองก็มีอำนาจต่อรองกับผู้ค้าส่งมากขึ้น และผู้ค้าส่งก็มีอำนาจต่อรองกับผู้ค้าปลีกมากขึ้น จนที่สุดผู้ค้าปลีกอยู่ไม่ได้ ผู้ค้าส่งเลยลงมาเล่นบทเป็นผู้ค้าปลีกเสียเอง นั้นแปลว่าห่วงโซ่อุปทานหายไปแล้วหนึ่งข้อ ถ้าเป็นเช่นนี้เรื่อยๆ ห่วงโซ่ก็จะค่อยๆหายไปทีละข้อโดยเริ่มจากข้อที่อยู่ใกล้ผู้บริโภคมากที่สุดก่อนคือร้านค้าปลีก ดังที่เราเห็นจากกรณีศึกษาร้านค้าโชห่วยเป็นต้น